Knowledge-Hair Loss

ความรู้เกี่ยวกับผมร่วง  

ผมร่วงแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

1. ระยะแอนนาเจน ( Anagen phase ) เป็นระยะที่เส้นผมมีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวยาวขึ้น เส้นผมบนหนังศรีษะประมาณ 80- 90% อยู่ในระยะนี้ และจะอยู่ระยะนี้นาน 2-3 ปี แล้วก็จะเปลี่ยนเข้าสู่ระยะที่ 2

2. ระยะคาตาเจน ( Catagen phase ) เป็นเส้นผมระยะพัก เส้นผมในระยะนี้จะไม่มีการแบ่งตัว บนหนังศรีษะเป็นเส้นผมระยะนี้ ประมาณ 1% หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3

3. ระยะเทโลเจน ( Telogen phase ) พบประมาณ 10% บนหนังศรีษะ เป็นเส้นผมระยะหลุดร่วง หลังจากเส้นผมหลุดร่วงออกไป เส้นผมก็จะเข้าสู่ระยะที่ 1 ใหม่ เวียนไปเรื่อยๆ

คนไข้ที่มีปัญหาผมร่วงมานาน หรือเริ่มกังวลเรื่องผมร่วง สามารถมาปรึกษาแพทย์ปริญญาเฉพาะด้านตจวิทยา (เส้นผม ผิวหนัง) แฮร์คลินิกไทย ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย กรุณานัดล่วงหน้าก่อน เนื่องจาก อ.หมอ ตรวจตามคิวลำดับ ก่อน-หลัง

ภาวะผมร่วง ผมบาง จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
โดยเฉลี่ยช่วงอายุ 30 ปี จะพบได้ประมาณ 30% และพบมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น อายุ 50 ปี จะพบได้ประมาณ 50%

ผมร่วงกี่เส้นต่อวัน จึงเข้าข่ายภาวะผมร่วง ผมบาง ผิดปกติ

สำหรับวันที่ไม่ได้สระผม ถ้ามีผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน โดยประมาณ ถือว่ามีปัญหาภาวะผมร่วง ผมบาง

สำหรับวันที่สระผม ถ้ามีผมร่วงมากกว่า 200 เส้นต่อวัน โดยประมาณ ถือว่ามีปัญหาภาวะผมร่วง ผมบาง

ทำไมวันที่สระผม จึงมีผมร่วงมากกว่าวันที่ไม่ได้สระผม เพราะผมที่พร้อมที่จะร่วง หรือกำลังที่จะร่วงตามธรรมชาติ เมื่อถูกกระตุ้นจากการสระผม ผมเหล่านี้ก็พร้อมจะหลุดร่วงได้เร็วกว่าเดิม

ปัจจัยที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะผมร่วง ผมบาง
- ผมร่วงจากพันธุกรรม หรือฮอร์โมน พบเป็นอันดับ 1 ของการเกิดภาวะผมร่วง ผมบาง

- ภาวะโรคต่างๆที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง เช่น โรคไทรอยด์, โรคไต, โรคตับ, โลหิตจาง, ไข้เลือดออก, โรคมะเร็ง, โรคซิฟิลิสระยะที่ 2, โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น SLE โรคผมร่วงเป็นหย่อม, โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อรา

- ภาวะทุพโภชนาการ หรือขาดสารอาหาร ก็ทำให้ผมร่วง ผมบาง เช่น ขาดธาตุเหล็ก, ขาดโปรตีน, ขาดวิตามิน A B C สังกะสี

- ผมร่วงจากภาวะความเครียด ทั้งจากร่างกาย และจิตใจ, โรคดึงผมตัวเอง Trichotillomania

- ผมร่วงจากภาวะหลังคลอด, หลังผ่าตัด, หลังไข้สูง, หลังให้เลือด, หลังเสียเลือดจากอุบัติเหตุ, ตกใจอย่างรุนแรง, ลดน้ำหนักเร็วเกินไป

- การได้รับยาบางชนิดก็ทำให้ผมร่วง ผมบาง เช่น ยากันชัก ยาลดไขมัน กรดวิตามินเอ ยาต้านมะเร็ง รวมถึงการฉายรังสี

(ปกติแล้วการฉายรังสี คนไข้ก็จะผมร่วงได้ แต่เมื่อหยุดการฉายรังสี เส้นผมสามารถกลับงอกขึ้นมาใหม่ได้เอง)

COVID-19 กับผมร่วงผมบาง

หลายคนเข้าใจว่า คนที่ติดเชื้อ COVID-19 จะคลื่นไส้ น้ำมูกไหล มีไข้สูง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเท่านั้น

ผลข้างเคียงของ COVID-19 นั้นมีมากมาย แต่หลายคนคิดไม่ถึงว่า ผมร่วงก็เป็นผลข้างเคียงด้วยเช่นกัน

ทางการแพทย์เรียกว่า telogen effluvium ซึ่งผมร่วงลักษณะนี้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การลดน้ำหนัก ไช้สูง ตกใจรุนแรง เครียด ซึมเศร้า การติดเชื้อ เป็นต้น

มีรายงานในต่างประเทศสำรวจผู้ที่หายจากโควิด-19 จำนวน 1,500 ราย ระบุว่าผมร่วงเป็นหนึ่งในอาการ 25 อันดับแรกที่พบ

และมีการสำรวจและตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Cosmetic Dermatology เกี่ยวกับ COVID-19 และภาวะผมร่วง

โดยภาวะผมร่วงนี้ เกิดขึ้นได้ทั้ง ระหว่างการติดเชื้อ และหลังจากหาย COVID-19 แล้ว ก็ผมร่วงได้เช่นกัน

แม้การติดเชื้อ COVID-19 ก็เป็นสาเหตุนึงของภาวะผมร่วง แต่คนที่ติดเชื้อหลายคนที่มีอาการผมร่วงก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดจาก COVID-19 อย่างเดียว การได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่ครบถ้วน หรือ มีความเครียด ทั้งร่างกายและจิตใจ แม้กระทั่งอารมณ์ที่แปรปรวน, ความกังวล ระหว่างที่ติดเชื้อก็เป็นสาเหตุผมร่วงได้เช่นกัน

ผู้ป่วยบางราย ไม่อยากอาหาร หรือทานอาหารได้น้อยลง ไม่เหมือนก่อนติดเชื้อ ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนในระยะยาว ส่งผลให้เกิดภาวะผมร่วงได้ หรือผู้ป่วยบางรายต้องการลดน้ำหนักในระหว่างที่ติดเชื้อก็ยิ่งทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้เช่นกัน

ความเครียดก็มีบทบาทสำคัญมาก เพราะในคนที่ไม่ติดเชื้อ COVID-19 ก็มีอากาสผมร่วงมากขึ้นได้ เพราะการล็อคดาวน์ และกักตัว กักบริเวณ ความกังวลว่าจะตกงาน กังวลว่าติดเชื้อหรือยัง เป็นส่วนนึงที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวและส่งผลให้ผมร่วงมากขึ้นได้เช่นกัน

โรคผมร่วงเป็นหย่อม

โรคผมร่วงเป็นหย่อมไม่เป็นอันตราย แต่มีผลต่อจิตใจค้อนข้างมาก

โรคผมร่วงเป็นหย่อม พบบ่อยที่หนังศีรษะ แต่สามารถเกิดขึ้นในบริเวณอื่นๆได้ เช่น คิ้ว หนวด โรคนี้เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร เมื่อโรคสงบลง ผมหรือขนสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ โรคนี้

แบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง

Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว

Alopecia totalis (AT) : ผมร่วงทั้งศีรษะ

Alopecia universalis (AU) : ผมร่วงที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

โรคผมร่วงเป็นหย่อม ใครเป็นได้บ้าง

เกิดได้เท่าๆกันทุกเพศ

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดในอายุเท่าไร

เฉลี่ยอายุ 30 ปี แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้

โอกาสการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อม

เฉลี่ย คือ 1 ใน 1,000 คน หรือ ประมาณ 2%

ลักษณะของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ผมร่วงเป็นหย่อม มีลักษณะกลม เห็นขอบเขตชัดเจน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อนในบริเวณที่จะเกิดโรค

โรคนี้มักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายที่มีขนได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือ ขนหัวหน่าว) อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้

โรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ บางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วงได้

ความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ไม่สามารถระบุสาเหตุแน่ชัดได้ สันนิฐานว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ และทำลายรูขุมขน

ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อม จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

โรคดึงผมตนเอง (trichotillomania)

โรคผมร่วงที่เกิดจากการดึงผมตัวเอง ทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางจิตเวชแบบย้ำคิดย้ำทำ

สามารถเกิดได้กับทุกบริเวณของร่างกายที่มีผมหรือขนที่ยาวในขนาดที่สามารถดึงออกได้ เช่น ผม ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา และหัวหน่าว เป็นต้น

โรคดึงผมตัวเองเป็นยังไง

มักกระทำเมื่อรู้สึกไม่สบายหนังศีรษะ คัน หรือรู้สึกมีอะไรบนศีรษะ บางคนรู้สึกว่าเส้นผมไม่ตรง หยิก งอ พัน ไม่เรียบ ทำให้อยากดึงออก เมื่อดึงออกแล้วจะรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกโล่ง โปร่งขึ้น

โดยระหว่างที่การดึงผมโดยไม่รู้ตัว มักจะดึงระหว่างทำกิจกรรมอื่น ๆ อยู่ เช่น ดูซีรีส์ เล่นคอม อ่านหนังสือ ทำงาน เป็นต้น

 

โรคดึงผมตัวเองพบบ่อยไหม

พบได้ประมาณ 4% ของคนปกติ

พบในเพศไหนมากกว่ากัน

พบได้ทุกเพศพอๆกัน ในวัยเด็กจะไม่รุนแรง โดยจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

สำหรับวัยผู้ใหญ่มักพบว่าเรื้อรังเป็นนานแล้ว แต่เพิ่งมารักษา โดยผลการรักษาจะไม่ดีเท่าช่วงอายุน้อย

ปัญหาในบางคน

บางคนจะรับประทานเส้นผมเข้าไปด้วย ซึ่งเส้นผมจะสะสมในลำไส้ เกิดการอุดตันเป็นอันตราย


ปัญหาด้านบุคลิกภาพ

เสียบุคลิกภาพ ทั้งจากพฤติกรรมที่ดึงผมบ่อย และผลจากการดึงผมจนศีรษะล้าน

ปัจจัยก่อโรคดึงผมตัวเอง

คนไข้มักย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคซึมเศร้า พันธุกรรม หรือแม้กระทั่งความผิดปกติทางสมองและสารเคมีในสมอง สมาธิสั้น ความเครียด หรือมีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น

วิธีการรักษาโรคดึงผมตัวเอง

พบแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง และอาจพบจิตแพทย์ควบคู่กันได้

ภาวะหัวเหม็น (ผมเหม็น)

สระผมทุกวัน แต่หัวยังเหม็น???
หลังสระผม ก็ไดร์ผมจนแห้งแล้ว แต่ไม่นานผมก็เหม็น???

ภาวะผมเหม็น (Smelly Hair Syndrome, SHS)
การเกิดกลิ่นเหม็นจากเส้นผม และหนังศีรษะ แม้คนไข้จะสระผมบ่อย ไดร์ผมจนแห้งสนิทก็ตาม

ลักษณะกลิ่น
คล้ายนมบูด ฟองน้ำเก่าๆชื้นๆ ขนสุนัขขณะเปียก ถุงเท้าใช้แล้ว รองเท้าเก่า เป็นต้น

อาการ
ในบางคนอาจจะมีอาการคันหนังศีรษะ และเส้นผมเหนียวเหนอะหนะร่วมด้วย

เกิดจาก
เชื้อรา หรือกลากที่หนังศีรษะ (Tinea Capitis) และเชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุ

1. ต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป
เส้นผมและหนังศีรษะมันเร็วและดูดกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นอาหาร กลิ่นบุหรี่ กลิ่นควันรถที่ลอยอยู่ในอากาศเอาไว้

2. หนังศีรษะผลิตต่อมเหงื่อมากไป 
ทำให้เกิดภาวะอับชื้นบนหนังศีรษะ

3. เส้นผมเล็กและลีบเกินไป 
เนื่องจากมีปริมาณรูขุมขน และต่อมไขมันมาก

4. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงบ่อย
อาจเกิดจากความเครียด ทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เปลี่ยนแปลง มีผลในการควบคุมปริมาณไขมันบนหนังศีรษะ ต่อมไขมันจึงผลิตไขมันมากเกินไป

5. โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) 
อาการผื่นผิวหนังอักเสบ มักเกิดที่บริเวณผิวมัน คนไข้จะมีอาการอักเสบของหนังศีรษะ ถ้าแกะ เกา อาจมีน้ำเหลือง ทำให้ลุกลามติดเชื้อได้

6. คนที่ไม่ชอบสระผม เกิดการสะสมไขมันและเชื้อโรค

แผลจากการเกาหนังศีรษะ

- สะเก็ดจะหนามากขึ้นเรื่อยๆ และหลุดลอก อาจมีลักษณะของรังแคร่วมด้วย

- สาเหตุที่ทำให้ผมร่วง

การดูแล

- สระผมให้บ่อยขึ้น อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

- หลังสระผมควรเป่าผมให้แห้งสนิท ไม่ควรปล่อยให้ผมเปียกชื้น

- หลีกเลี่ยงการใช้ครีมนวดผม ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรใช้ครีมนวดที่ปลายผมเท่านั้น

- ส่วนผสมของยาสระและแชมพู ต้องไม่มีส่วนผสมของซิลิโคน

- ไม่ควรใช้ เจล สเปรย์ น้ำมัน โฟม แต่งทรงผม

- ไม่เกาศีรษะ หรือรบกวนหนังศีรษะ เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากขึ้น

- ถ้าเหงื่อออกง่าย หลีกเลี่ยงสถานที่มีอากาศร้อน ควรจะมีการระบายอากาศได้ดี

- กางร่ม หรือสวมหมวก เมื่ออยู่กลางแจ้ง

ผมร่วงจากการทำสีผม

การย้อมผม โกรกผม ฟอกผมหรือกัดสีผม เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนบุคลิกภาพ และความชอบส่วนบุคคล และในหลายคนต้องการปกปิดผมขาว เพราะไม่อยากดูแก่ จึงทำให้ต้องทำสีผมต่อเนื่องทุกเดือน ซ้ำๆ ทำไปเรื่อยๆ จนผมเริ่มเสีย ผมร่วงมากขึ้นจากที่ไม่ได้สังเกต จนสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าผมบางใกล้ล้าน

ยาย้อมผมจะมีสารเคมีผสมอยู่ แม้ระบุว่าส่วนผสมเป็นธรรมชาติก็ตาม ก็ยังมีส่วนผสมที่เป็นเคมีด้วย หรือระบุว่าไม่ใส่แอมโมเนีย ก็จะใส่สารจำพวกไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ถ้าไม่อ่านส่วนประกอบให้ละเอียดก็จะมองข้ามไป

หรืออาจจะระบุ ไม่ใส่แอมโมเนีย ไม่ใส่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 100% แต่ก็ใส่สารเคมีตัวอื่นทดแทน เช่น p-Phenylenediamine sulphate ซึ่งเป็นสารกลุ่ม PPD บางรายเขียนเป็นโค้ดแทนเช่น 16245-77-5 แทนชื่อเคมี สารกลุ่มนี้มักพบในยาย้อมผมทั้ง ชนิดผง และชนิดครีม แชมพูเปลี่ยนสีผมสมุนไพร

การย้อมผมเป็นประจำจึงเป็นการทำร้ายหนังศีรษะโดยตรงอย่างรุนแรง เพราะสารเคมีจะเข้าทำร้ายหนังศีรษะและเส้นผม ทำให้หนังศีรษะอักเสบเป็นแผล รากผมอ่อนแอ ผมร่วงมากขึ้น และล้านได้ในที่สุด

อาการที่สังเกตได้ เช่น แสบ แห้ง แดง คัน ลอก หรือถ้าอักเสบมาก จะเป็นตุ่ม เป็นหนอง ผมร่วงทั่วศีรษะ หรือ ผมร่วงเป็นหย่อม

ถ้าพบปัญหาผมร่วง ควรเว้นระยะห่างการย้อมผม หรือ หยุดย้อมจนกว่าจะรักษาผมร่วงหายก่อน โดยแนะนำรักษาผมร่วงกับแพทย์ผิวหนังเพื่อการรักษาด้วยแนวทางที่ถูกต้อง


ฮอร์โมนอะไรบ้างที่มีผลทำให้ผมร่วง ผมบาง

ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมน dihydrotestosterone (DHT)

เป็นฮอร์โมนหลักที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วง ผมบาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฮอร์โมนเพศชาย Testosterone คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่าจะพบได้ในเฉพาะเพศชาย แต่ในความเป็นจริง พบได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง โดยฮอร์โมนนี้จะเข้าไปรบกวนการเจริญเติบโตของเส้นผม ยับยั้งการทำงานของปมรากผม ทำให้เส้นผมเล็กลง อ่อนแอ ความยาวลดสั้นลงกว่าแต่ก่อน ขาดร่วงได้ง่ายขึ้น และหัวล้านในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

ฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ก็มีส่วนทำให้ผมร่วง

ปกติฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์จะช่วยเผาผลาญพลังงาน เผาผลาญอาหารต่างๆในร่างกาย แต่เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็ส่งผลให้ผมร่วง ผมบาง ได้ โดยสังเกตเบื้องต้น คือ ผิวเริ่มแห้ง เล็บเปราะแตกง่ายขึ้นกว่าเดิม อ่อนเพลียง่าย เมื่อพบว่ามีอาการลักษณะนี้ สามารถมาปรึกษาแพทย์ได้

ผมร่วง-อินซูลิน

ผมร่วงสามารถเกิดจากอินซูลินในร่างกายมีระดับที่สูงเกินไปได้ เช่น โรครังไข่ polycystic (PCOS) ซึ่งเป็นความผิดปกติต่อมไร้ท่อที่พบบ่อยมากในเพศหญิง โรคนี้จะขับเคลื่อนด้วยอินซูลินสูงเรื้อรัง (hyperinsulinemia) เป็นสาเหตุให้ผมร่วง ผมบาง เป็นสิว และน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ แต่สำหรับเพศชายที่มี hyperinsulinemia ก็เป็นสาเหตุให้ผมร่วง ผมบาง ได้เช่นกัน เมื่อระดับอินซูลินสูงเกินไป จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มการผลิตเอสโตรเจน ทำให้ผู้ชายเริ่มผมร่วงได้เช่นกัน

แนะนำว่า ลดปริมาณน้ำตาลในอาหารให้ต่ำกว่า 50 กรัมต่อวัน และถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรทานอาหารหลัง 5 โมงเย็น ก็จะช่วยลดระดับอินซูลินได้

ผมร่วง-เอสโตรเจน

ในเพศหญิงเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ และมีการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้น และลดลงหลังคลอด ก็ทำให้เกิดภาวะผมร่วง ผมบาง ได้ นอกจากเรื่องภาวะหลังคลอดที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลแล้ว ผมร่วง ผมบาง ยังเกิดได้กับภาวะหมดประจำเดือนได้ด้วย

วิธีสังเกตุผมร่วงผิดปกติ 

ในคนปกติ สามารถมีผมร่วงได้มากถึงวันละ 100 เส้น

ถ้าสงสัย ว่าอาจมีอาการผมร่วงผิดปกติ ให้นับจำนวนเส้นผมที่ร่วงในแต่ละวัน โดยนับ 3 เวลา ดังนี้

1. ผมที่ร่วงบนที่นอน

2. ผมที่ร่วงเวลาสระผม

3.ผมที่ร่วงช่วงเวลาเป่าผมหรือจัดแต่งทรงผม

ให้นับทุกวัน และดูค่าเฉลี่ย รวมว่าในแต่ละวันมี ผมร่วงเกิน 100 เส้น หรือไม่

ถ้าพบว่า ผมร่วงเฉลี่ยเกิน 100 เส้น/วัน  ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษา


ปัจจัย 9 ประการ ทำให้ผู้ชาย ผมร่วง

ภาวะผมร่วงผมบางในผู้ชาย มีหลากหลายปัจจัยนะครับ บางปัจจัยคนคิดไม่ถึง และไม่คิดว่าจะทำให้ผมร่วงผมบางได้ แต่บางคนก็รู้แล้ว แต่ก็ยังทำพฤติกรรมนั้นอยู่

เรามาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผมร่วงผมบาง

1. ผมร่วงผมบางจากพันธุกรรม

2. อายุมากขึ้น

3. ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย

4. การดื่มเหล้าเป็นประจำ หรือ ภาวะพิษสุราเรื้อรัง

5. การสูบบุหรี่เป็นประจำ

6. ภาวะเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือ โรคประจำตัวบางชนิด

7. ความเครียด

8. ภาวะขาดสารอาหาร

9. การได้รับยาบางชนิด รวมถึง การฉายรังสีรักษาโรค

ปัจจัย 10 ประการ ทำให้ผู้หญิงผมร่วง

ภาวะผมร่วงผมบางในผู้หญิง มีหลากหลายปัจจัยนะครับ บางปัจจัยคนคิดไม่ถึง และไม่คิดว่าจะทำให้ผมร่วงผมบางได้ แต่เมื่อรู้แล้ว แนะนำหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านั้นนะครับ

เรามาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผมร่วงผมบาง

1. ความผิดปกติของสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย

2. ผมร่วงผมบางจากพันธุกรรม

3. อายุมากขึ้น

4. ผู้หญิงตั้งครรภ์ และ หลังคลอด

5. ภาวะเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือ โรคบางชนิด

6. การอดอาหารอย่างผิดวิธี หรือ ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเกินไป

7. ความเครียด หรือ บางคนชอบดึงผมตัวเองเล่น

8. สระผมตอนกลางคืนและเข้านอนทันที โดยที่หนังศีรษะยังชื้นอยู่

9. การทำทรงผมที่มัดแน่น หรือ เกล้าผมแน่น เกินไป

10. การทำเคมีกับเส้นผม เช่น ดัดผม ยืดผม ย้อมผม

การรักษาผมร่วงผมบางแบบทั่วไป

-  ดูแลรักษาความสะอาดของเส้นผมและหนังศีรษะเป็นประจำ

- ไม่ไว้ทรงผมที่ยาวจนเกินไป จนทำให้เส้นผมร่วงได้บ่อยขึ้น

- พยายามหลีกเลี่ยงการจัดทรงผม เช่น การรัดผมหรือเกล้าผมแน่นจนเกินไป

- ในช่วงที่มีอาการผมร่วงมาก ควรเว้นการทำเคมีกับเส้นผม เช่น ดัดผม ยืดผม ย้อมผม 

- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยลดผมร่วง เช่น โปรตีน และ วิตามิน

- การรักษาผมร่วงบาง โดยการใช้ยา แบ่งได้เป็น แชมพูยา  ยาทา และ ยากิน

- การใช้แชมพูยาที่ได้จากคลินิก จะช่วยลดอาการผมร่วง และรักษาอาการผิดปกติของหนังศีรษะ

- การใช้ยาทาที่ได้จากคลินิก ช่วยทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณหนังศีรษะมากขึ้น และกระตุ้นให้รากผมมีขนาดใหญ่ขึ้น

- การใช้ยากินที่ได้จากคลินิก ส่วนใหญ่มักใช้ในภาวะผมร่วงผมบางจากพันธุกรรม ทำให้เส้นผมขึ้นใหม่และหนาขึ้นได้

- การซื้อยากิน ยาทา แชมพูยา มาใช้เอง โดยไม่ได้พบแพทย์ อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง ทารกในครรภ์มีโอกาสเสี่ยงภาวะพิการ เป็นต้น

ศัลยกรรมปลูกผม VS ยาคลินิก VS เซรั่มสารสกัดธรรมชาติ

ปัจจุบันแนวทางในการรักษาภาวะผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน มีได้หลายวิธี ตั้งแต่ การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เช่น แชมพูสระผม เซรั่มบำรุงเส้นผม หรือการใช้ยากินและยาทาในการรักษาผมร่วงผมบาง หรือในกรณีที่เป็นมากหรือมีความกังวลในบางตำแหน่ง การทำศัลยกรรมปลูกผมก็จะช่วยให้เส้นผมกลับมาหนาขึ้นได้

ในกรณีที่ผมร่วงเป็นมาไม่นาน ยังไม่พบว่ามีบริเวณที่ผมบางหรือศีรษะล้าน อาจเริ่มการรักษาด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่มีขายอยู่ในท้องตลาด โดยทั่วไปมักเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อหนังศีรษะ เช่น สารสกัดจากใบโรสแมรี่ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่หนังศีรษะ ช่วยลดความมัน รังแค สารสกัดจากใบบัวบก ช่วยลดปัญหาผมหงอกก่อนวัย ทำให้ผมร่วงน้อยลง สารสกัดจากจมูกข้าวสาลี มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง โดยหลักการเลือกใช้เซรั่มบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย มี อย. ระบุไว้ชัดเจน  

การรักษาโดยการใช้ยาที่สั่งจ่ายโดยคลินิก ประกอบด้วย การใช้แชมพูยาซึ่งช่วยปรับสภาพหนังศีรษะ ช่วยลดความมัน และลดการหลุดร่วงของเส้นผม  ยาทารักษาอาการผมร่วงผมบาง โดยยาทาที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ MinoxidilLotion (มีผลข้างเคียงอันตราย, ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์) ซึ่งเป็นยาที่รักษาผมบางแบบพันธุกรรม ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ให้ใช้ในการรักษาผู้ที่มีผมบางแบบพันธุกรรมทั้งผู้ชายและผู้หญิง ยานี้ไม่มีผลต่อฮอร์โมนเพศชาย เชื่อว่ากลไกที่ทำให้ผมขึ้น มาจาก การที่ยาไปทำให้มีเลือดมาเลี้ยงในบริเวณที่ทายามากขึ้น และกระตุ้นให้รากผมมีขนาดโตมากขึ้น จึงช่วยทั้งลดอาการผมร่วง และทำให้มีผมเกิดขึ้นใหม่ได้

สำหรับยากินที่ใช้ในการรักษาผมร่วงผมบางแบบพันธุกรรม คือ Finasteride (มีผลข้างเคียงอันตราย, ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5 alpha reductase ซึ่งทำให้ฮอร์โมน DHT มีปริมาณลดลง  เมื่อทานต่อเนื่อง จะทำให้เส้นผมขึ้นใหม่และหนาขึ้นได้ ผลข้างเคียงพบได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง เช่น ไม่ใช้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากอาจทำให้เด็กที่เกิดมามีความพิการของอวัยวะได้ ดังนั้นการใช้ยา จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางก่อน

ในกรณีที่ผมร่วงผมบางมาก หรือ ศีรษะล้าน รวมถึงในกลุ่มผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยการใช้ยาเป็นระยะเวลานาน แต่ยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ การทำศัลยกรรมปลูกผมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา โดยเป็นการผ่าตัดย้ายเซลล์รากผมของตนเองจากบริเวณที่ยังมีความแข็งแรง ไม่ถูกกระทบด้วยฮอร์โมน DHT มาปลูกลงบนบริเวณที่มีผมบางหรือมีปัญหา ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งบริเวณเส้นผม และคิ้ว ขั้นตอนการปลูกผมใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่จึงไม่ทำให้เจ็บปวด สามารถทำการรักษาได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในการปลูกผมแต่ละครั้ง ใช้เวลานานประมาณ 4-6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนและความหนาแน่นในการปลูก จึงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ภายหลังการปลูกผม อาจมีอาการบวม เลือดออก หรือเกิดผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ พบแผลเป็นบริเวณท้ายทอยได้ ซึ่งมีขนาดเล็กมองเห็นไม่ชัดเจน รวมถึงอาจพบมีผมร่วงได้ชั่วคราวภายหลังทำการปลูกผม

วิตามินสำหรับลดผมร่วงผมบาง

1. Biotin หรือ Vitamin B7 จัดเป็น วิตามินที่ละลายในน้ำ ทำหน้าที่เป็น cofactor ในการผลิตกรดไขมัน กรดอะมิโน และการเจริญของเซลล์ในร่างกาย ในคนปกติมักไม่ค่อยพบภาวะขาดไบโอติน เนื่องจากพบได้ในอาหารหลายประเภท เช่น ไข่แดง ธัญพืช ข้าวกล้อง เนื้อสัตว์

การขาดไบโอตินทำให้เกิดภาวะผมร่วง ผื่นผิวหนัง เล็บเปราะแตกหักง่าย  พบภาวะขาดไบโอตินได้ใน

a. ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร

b. คนที่ได้รับ ยาปฏิชีวนะหรือ ยากันชักบางประเภท รวมถึง ยารักษาสิวบางประเภทเป็นระยะเวลานานๆ

c. ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

2. Iron ธาตุเหล็ก เม็ดเลือดแดงของคนเราใช้ธาตุเหล็กเป็นตัวช่วยพาออกซิเจน อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ได้แก่ เนื้อแดง ผักใบเขียว ถั่ว การขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ โดยพบอาการต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ผิวซีด รวมถึงผมร่วง ซึ่งผู้หญิงที่มีปัญหาผมร่วงต้องนึกถึงภาวะขาดธาตุเหล็กด้วย นอกจากนี้อาจพบภาวะขาดธาตุเหล็กได้ใน

a. ผู้หญิงที่เสียเลือดประจำเดือนมาก

b. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

c. ผู้ที่ทานมังสวิรัติเป็นประจำ

3. Zinc หรือ แร่ธาตุสังกะสี มีบทบาทสำคัญในการสร้างโปรตีนในเส้นผมและเซลล์ต่างๆ ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง ได้จากการรับประทานอาหาร ซึ่งพบมากใน เนื้อสัตว์ ปลา และ อาหารทะเล เช่น หอย เมล็ดธัญพืช ถั่วต่างๆ ส่วนผักและผลไม้พบได้น้อย 

ผู้ที่ขาดสังกะสี จะมีอาการ แผลหายช้า ผมร่วง มีการได้รับรสหรือกลิ่นผิดปกติ ภาวะขาดสังกะสี พบได้ใน

a. ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

b. ผู้ที่ตั้งใจลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี ( Anorexia nervosa )

c. ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ

d. ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

e. ผู้ป่วยมะเร็ง

f. ผู้ป่วยแผลไฟไหม้

g. ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์

4. Vitamin C เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ จัดเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ มีส่วนในการสร้างคอลลาเจน และช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก อาหารที่มีวิตามินซีมากได้แก่  ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม ส่วนในเนื้อสัตว์พบวิตามินซีน้อยมาก ในผู้ที่ขาดวิตามินซี จะพบว่ามีความผิดปกติของเส้นผม โดยพบว่าเส้นผมมีการบิดเป็นเกลียว (corkscrew hair) ทำให้ผมร่วง ผมขาด ได้ง่ายขึ้น

5. Vitamin D เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน มีความสำคัญในการสร้างกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน ร่างกายสามารถสร้างวิตามินดีได้จากการสัมผัสแสงแดด และได้รับเพิ่มเติมจากอาหาร เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เห็ด ไข่ และ นม

การขาดวิตามินดี อาจทำให้มีอาการผมร่วงเป็นหย่อมได้ การได้รับวิตามินดีมากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษได้ ดังนั้นก่อนทานวิตามินดีเสริม ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาระดับของวิตามินดีก่อนว่าขาดหรือไม่ ภาวะขาดวิตามินดี พบได้ใน

a. ผู้ที่ชอบออกกำลังกายในที่ร่ม

b. ผู้ที่ไม่ค่อยโดนแสงแดด

c. ผู้ที่ไม่ค่อยทานอาหารที่มีวิตามินดี

d. ผู้ที่มีโครงร่างเล็ก ผอม

Vitamin B complex วิตามินในกลุ่มนี้มีหลายชนิด มีความสำคัญในการทำงานระบบปฏิกิริยาเคมีของเซลล์ร่างกาย มีส่วนในการช่วยสร้างเส้นผมให้แข็งแรง ได้แก่

a. Vitamin B1 หรือ Thiamin

b. Vitamin B2 หรือ Riboflavin

c. Vitamin B3 หรือ Niacin

d. Vitamin B5 หรือ Pantothenic acid

e. Vitamin B6 หรือ Pyridoxine

f. Vitmain B7 หรือ Biotin

g. Vitamin B9 หรือ Folate

h. Vitamin B12 หรือ Cobalamin

วิตามินในกลุ่มนี้ เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายขับส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ไม่ได้เก็บสะสมไว้ ดังนั้นจึงควรได้รับจากอาหารเป็นประจำทุกวัน อาหารที่มีวิตามินบีรวมมากได้แก่ ผักใบเขียว ธัญพืช เนื้อสัตว์ ตับ ปลา ไข่ อะโวคาโด ถั่วต่างๆ ภาวะขาดวิตามินบีรวม อาจพบได้ใน ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร, ผู้หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่ใช้ยาประจำตัวบางชนิด

สารอาหารที่พร่องไป อาจทำให้ผมร่วงได้

โปรตีน การทานอาหารโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ จะทำให้ร่างกายได้รับ อะมิโน แอซิด ซึ่งจำเป็นในการสร้างและซ่อมแซมเส้นผมให้แข็งแรง ลดผมร่วงผมบางได้

ธาตุเหล็ก เป็นตัวช่วยพาออกซิเจนให้กับเม็ดเลือดแดง อาหารที่มีธาตุเหล็กมากได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ผักขม ถั่วต่างๆ

สังกะสี  ช่วยในการสร้างโปรตีนในเส้นผมและเซลล์ต่างๆ พบมากใน เนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเล เช่น หอยเชลล์ เมล็ดธัญพืช เช่น ฟักทอง งาดำ

วิตามินดี การขาดวิตามินดี ทำให้ผมร่วงได้ ปกติร่างกายสามารถสร้างวิตามินดีได้เองจากการสัมผัสแสงแดด และยังพบได้ในอาหาร เช่น นม ชีส เนย ไข่ ปลา เห็ด

วิตามินบี 7 หรือ ไบโอติน  การขาดทำให้เกิดภาวะผมร่วง ผื่นผิวหนัง เล็บเปราะแตกหักง่าย พบมากใน ไข่แดง ธัญพืช ข้าวกล้อง รวมถึงเนื้อสัตว์

ควรทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อจะได้ครบ 5 หมู่ และได้รับวิตามิน เกลือแร่ต่างๆคละกันไป หากทานซ้ำๆเหมือนเดิม อาจทำให้ได้รับสารอาหารบางอย่างมากไป บางอย่างน้อยไป

ความเครียดแบบไหนจึงทำให้ผมร่วง ผมบาง

ความเครียดเป็นสาเหตุของภาวะผมร่วง ผมบาง เช่นกัน มีทั้งที่เกิดจากทางร่างกาย และทางจิตใจ

ความเครียดทางร่างกายที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง เช่น อากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัด อากาศชื้นมาก ทำให้ไม่สบายตัว อาการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ การออกกำลังกายที่มากเกินไป นานเกินไป การทำร้ายหนังศีรษะทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น การย้อม ไดร์ ดัด ดึง เป่า ม้วน ยืด ย้อม กัดสี การมัดผมรวบแน่น แบบตึง ดึงรั้งเต็มที่ การผูกผมเปีย การเดินทางนานๆ ไกลๆ ก็เป็นปัจจัยร่วมให้เกิดความเครียดซึ่งส่งผลทำให้ผมร่วง ผมบางได้

ความเครียดทางจิตใจ เช่น ความเศร้า ความกลัว ความกังวล ความเหงาที่เป็นอาการที่เรื้อรัง ยาวนาน และเกิดขึ้นบ่อยๆ การโมโห การตกใจอย่างรุนแรง คนไข้ที่มีความเครียดสะสมยาวนาน ส่งผลให้ผมร่วง ผมบางอย่างต่อเนื่องทีละน้อย จากที่สังเกตไม่เห็น จนเห็นได้ชัดว่าผมร่วงมากขึ้น จึงแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและผิวหนัง และปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วย

รังแคกับผมร่วง 

รังแคก็เป็นสาเหตุของผมร่วง ผมบาง ได้ ถ้าเป็นอย่างต่อเนื่องและไม่ได้ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

รังแคเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

- การแบ่งตัวของเซลที่บริเวณหนังศีรษะแบบผิดปกติ ทำให้หลุดออกมาได้เร็วกว่าเวลาอันควร และสะสมจนเป็นขุยขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถมองเห็นได้  

- เชื้อยีสต์ หรือเชื้อราประจำถิ่น มีปริมาณที่มากขึ้นและย่อยไขมันบนหนังศีรษะ ก็ทำให้เกิดรังแค 

- โรคบางชนิด เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากกว่าปกติ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ โรคสะเก็ด โรคผิวแห้ง โรคผิวหนังอักเสบ 

ถ้าเริ่มมีรังแค และไม่ได้ดูแลรักษา จนมีรังแคมากขึ้น ก็เป็นสาเหตุของ ผมร่วง ผมบาง ได้  

หากพบว่ามีปัญหารังแค สามารถมาปรึกษาแพทย์ผิวหนังได้ เพื่อป้องกันภาวะผมร่วง ผมบาง ในอนาคต

กินอะไรแก้ผมร่วง ผมบางได้

การรับประทานอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เป็นวิธีพื้นฐานที่สุด และง่ายที่สุด

อาหารที่บำรุงเส้นผม รากผม มีอะไรบ้าง

เนื้อสัตว์, ผักใบเขียว, ตับ, นม, ไข่, ถั่วต่างๆ, กล้วยหอม, ธัญพืช, อโวคาโด

อาหารเหล่านี้ ช่วยบำรุงรากผม เส้นผม ลดอาการ ผมร่วง ผมบาง  ซึ่งการทานอาหารเหล่านี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ถ้าสังเกตเห็นว่า ผมร่วง ผมบาง มากกว่าเดิม การดูแลเบื้องต้นแบบนี้อาจไม่ได้ผล แนะนำมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผม ผิวหนัง เพื่อการรักษาอาการผมร่วงให้เป็นปกติ

การลดน้ำหนัก ทำให้ผมร่วงได้ไหม

การลดน้ำหนักมีหลายวิธี แต่บางวิธีก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง ได้เช่นกัน

การลดน้ำหนักแบบรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น ในคนไข้หลายรายจะมีภาวะขาดสารอาหาร เพราะพยายามที่จะลดอาหาร ทานให้น้อยๆ เพราะเข้าใจว่า เมื่อทานน้อย น้ำหนักก็จะลดไปเอง

แต่การทานอาหารที่น้อยเกินไป ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ หรือโภชนาการบกพร่อง เมื่อร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ก็ทำให้ผมร่วง ผมบาง ได้ เช่น ธาตุเหล็กพบได้จาก เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ตับ นม ไข่ เป็นต้น เมื่อพบว่ามีอาการผมร่วง ผมบาง จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผม และผิวหนัง เพื่อทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง

ยาสระผม และครีมนวดผม มีผลทำให้ผมร่วงได้ไหม

การสระผมถือเป็นการรักษาความสะอาดให้กับเส้นผม และหนังศีรษะ แต่การสระผมที่บ่อยเกินไป มากกว่าวันละ 1 ครั้ง และการขยี้เส้นผมแรงเกินไป ก็เป็นการกระตุ้นทำให้หนังศีรษะอักเสบ และผมร่วงได้ การล้างยาสระผมออกไม่หมด ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน

การใช้ครีมนวด ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ แนะนำให้ล้างให้สะอาดหลายๆรอบ และไม่ต้องขยี้แรง ให้คลึงเบาๆ ล้างให้สะอาด เพราะครีมนวดที่ตกค้างบนหนังศีรษะก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง ได้เช่นกัน

การสระผมด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำที่อุณหภูมิสูงมากไป

ปกติแล้วน้ำอุ่นจะทำให้ผิวหนังแห้ง และเช่นกันก็ทำให้เส้นผม และหนังศีรษะแห้งด้วย และการสระผมด้วยน้ำอุ่นบ่อยๆ อย่างต่อเนื่องทุกวัน หนังศีรษะจะมีลักษณะที่แห้งมากขึ้น ซึ่งหนังศีรษะแห้งนั้นเป็นการกระตุ้นให้หนังศีรษะเกิดการอักเสบ และทำให้รูขุมขนอ่อนแอ ส่งผลให้ผมร่วง ผมบาง ตามมาได้

แชมพูแก้ผมร่วง ผมบาง

การสระผมเป็นการทำความสะอาดเส้นผม และหนังศีรษะที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดของการดูแลเส้นผม

ดังนั้นแชมพูตามท้องตลาด ที่ไม่ใช่แชมพูยา อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับการแก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง โดยตรง แต่ก็ยังเป็นตัวช่วยให้หนังศีรษะสะอาด ลดปัญหาการสะสมเชื้อโรค ซึ่งเป็นปัจจัยของผมร่วง ผมบาง ได้เช่นกัน โดยแชมพูยาจะสามารถจำหน่ายในคลินิก ไม่สามารถจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปได้

ถ้าพบอาการผมร่วง ผมบาง จนรู้สึกไม่มั่นใจ สามารถมาปรึกษาแพทย์ได้

เซรั่มแก้ผมร่วง ผมบาง

การดูแลบำรุงรากผม และเส้นผม เพื่อแก้ปัญหา ผมร่วง ผมบาง ที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บตัว คือ การใช้เซรั่มบำรุงรากผม ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จำนวนมาก

การดูแลปัญหารากผม และเส้นผมที่ดีนั้น ในเซรั่มแก้ผมร่วง ผมบาง ควรจะมีตัวช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณหนังศีรษะ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงรากผมได้มากพอที่จะให้เส้นผมแข็งแรง และควรมีตัวช่วยลดการทำงานของฮอร์โมน DHT ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปรบกวนรากผม และทำให้การเจริญเติบโตของเส้นผมผิดปกติ เส้นผมจะเล็กลง ความยาวจะหดสั้นลงจากที่เคยยาว ผมขาด ผมร่วง ได้ง่ายขึ้น จนทำให้ผมบาง หัวล้านในที่สุด (รายละเอียดเพิ่มเติม)


การรักษาผมร่วง ผมบาง ด้วยสมุนไพร

เมล็ดข้างฟ่าง บำรุงเส้นผม รากผมให้แข็งแรง

มอลต์ ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของโลหิตบริเวณหนังศีรษะ

จมูกข้าวสาลี มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง บำรุงเส้นผมให้แข็งแรง

ธูปฤาษี ช่วยต่อต้านการเกิดเชื้อแบคทีเรีย บำรุงเส้นผม และหนังศีรษะ

ใบบัวบก ช่วยบำรุงหนังศีรษะและเส้นผม ช่วยทำให้เส้นผมดกดำ แก้ปัญหาผมร่วง ผมหงอกก่อนวัย

ทองพันชั่ง ช่วยลดการทำงานของ DHT ลดผมร่วง แก้อาการผมหงอก ช่วยทำให้ผมดกดำ ป้องกันเชื้อราบนหนังศีรษะ

ผิวมะกรูด ทำให้ผมดกเงางาม ป้องกันผมหงอก แก้ปัญหาผมร่วง ทำให้ผมเงางามและมีน้ำหนักขึ้น และยังช่วยถนอมเส้นผมและบำรุงเส้นผม

ใบโรสแมรี่ มีฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่หนังศีรษะและช่วยขจัดไขมัน และลดการเกิดรังแคที่หนังศีรษะได้

งาขี้ม้อน ป็นพืชสมุนไพรที่มีประวัติการใช้เป็นทั้งอาหาร และยาในประเทศทางแถบเอเชียมานาน มีฤทธิ์ต้านการแพ้และต้านการอักเสบของหนังศีรษะได้ดี บำรุงเส้นผม รากผมให้แข็งแรง

คาวทอง พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชียตั้งแต่แถบเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเวียดนาม รวมทั้งไทย เกาหลีและญี่ปุ่น พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยยับยั้งการหลุดร่วงของเส้นผมและช่วยป้องกันผิวหนังอักเสบ พร้อมช่วยต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ

ชาเขียว อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างไรผม กระตุ้นการทำงานของรากผมและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยในส่วนประกอบชาเขียวมีความสามารถทำปฏิกิริยากับฮอร์โมนเพศชายส่งผลให้ระดับฮอร์โมนอยู่ในสภาวะที่สมดุลดังนั้นผมจะเจริญเติบโตเป็นปกติ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติป้องกันการอักเสบของหนังศีรษะจึงช่วยป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม

ความรู้เพิ่มเติม

 

นพ.วริสร สุวรรณฉัตรชัย
สาขาเฉพาะด้านตจวิทยา 
(เส้นผม ผิวหนัง)
ประสบการณ์ 24 ปี